เจ้าวัดทักทาย : เชื่อในพระเยซูเจ้าไม่ใช่จะต้องมองหรือแตะสัมผัสตัวพระเยซูเจ้า

10
Apr

เชื่อในพระเยซูเจ้าไม่ใช่จะต้องมองหรือแตะสัมผัสตัวพระเยซูเจ้า

               “ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข”(ยน.20:29) จากประโยคนี้ พระเยซูเจ้าทรงเน้นว่า  การเชื่อในพระองค์ ไม่จำเป็นต้องเห็นพระองค์หรือแตะต้องตัวของพระองค์ เหมือนดังที่โทมัสพูดกับเพื่อน ๆ ในวันนี้ว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกาย ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” (ยน.20:25)

               บทอ่านที่ 1 มีคำว่าเชื่อ อยู่ 2 คำ

               บทอ่านที่ 2 มีคำว่าเชื่อ อยู่ 3 คำ

               ส่วนในพระวรสารมีคำว่าเชื่ออยู่ 6 คำ

   ดังนั้น คำว่าเชื่อ จริง ๆ แล้วแปลว่าอะไร และเมื่อเชื่อแล้ว ก็จะมีความสุข มันคืออะไร

               ความหมายของคำว่าเชื่อ ถูกอธิบายไว้เล็กน้อยในบทอ่านที่ 2 จากจดหมายของนักบุญยอห์นอัครสาวก ท่านเขียนไว้ในประโยคต่อไปนี้ในข้อ 2 และ 3

               ข้อ 2 “…….เมื่อเรารักพระเจ้าและปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ ข้อ 3 ความรักต่อพระเจ้าคือการปฏิบัติตามบทบัญญัติ………”  (1ยน5:2-3)

               คำสำคัญใน 2 ข้อนี้ก็คือ รัก และอีกคำหนึ่งคือ ปฏิบัติตาม

               สรุปแล้วคำ 3 คำเชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นคือคำว่า เชื่อ รัก และ ปฏิบัติตาม

               คนที่เชื่อในพระเยซูเจ้า ก็ต้องปฏิบัติตามสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอน และเมื่อเราปฏิบัติ 2 สิ่งนี้ ก็จะเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่า เรารักพระเยซูเจ้าจริงๆ ไม่ใช่รักแต่ปาก

               สรุปแล้วประโยคหลังเสกศีลที่ว่า “ให้เราประกาศพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” มีคำ ๆ หนึ่งที่ตกไปก็คือ คำว่าฟัง เพื่อจะพูดให้ครบต้องพูดดังนี้ “ให้เราประกาศพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อฟัง

               เชื่อในพระเยซูเจ้าไม่ใช่เชื่อแบบลอยๆ แต่เชื่อในพระเยซูเจ้าก็คือต้องเชื่อฟัง และเมื่อเราเชื่อฟัง พระเยซูเจ้าโดยปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์สอน ก็แสดงว่า เรารักพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง และเมื่อปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์สอนแล้ว พระเยซูเจ้าก็จะเสด็จมาประทับในตัวเรา และนี่คือที่มาของความสุข ใครที่มีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในตัว ผู้นั้นจะมีความสุขสงบ

 

                                                                                                   สวัสดี

                                                                                 คุณพ่อสานิจ สถะวีระวงส์