คอลัมน์”คนข้างวัด” : ไปต่อไป

10
Apr

ไปต่อไป

ณ นาทีที่ความทรงจำเก่าหวนคืนมา ยามที่ต้องมาโดยสารรถไฟไทยเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง นานเท่าไหร่แล้ว? ที่ไม่ได้อยู่ในบรรยากาศแบบนี้ หลายสิบปีเลยทีเดียวที่เคยใช้บริการรถไฟไทยจากดอนเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงเพื่อมาทำงาน ช้าบ้าง สายบ้าง ตรงเวลาบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของบริการสาธารณะไทย  วันนี้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง ทุกอย่างก็ยังคล้าย ๆ เดิม รถออกตรงเวลาจากหัวลำโพง ที่นี่มีรางวางเรียงราย เพื่อสับหลีกสับเปลี่ยนให้ขบวนรถต่าง ๆ เข้าออกอย่างปลอดภัย คนที่คิดระบบนี้ได้ต้องชื่นชมจริง ๆ การวางระบบขึ้นลงของรางนั้น รางนี้ ได้อย่างสอดประสาน เมื่อขบวนรถเข้าสู่รางปกติ ก็ต้องผ่านชุมชน ยังคงเห็นผู้คนที่มีที่พักริมทางรถไฟ มานั่งดื่มกิน โดยอาศัยขบวนรถไฟผ่านไปมาสร้างบรรยากาศหรรษายามเย็น รถไฟยังเดินทางมุ่งหน้าต่อไป นำความฝัน นำความหวังของใครหลายคน บรรทุกส่งไปให้ถึงยังที่ปลายหมายหมุด

ในช่วงแรกของการกลับมาใช้บริการรถไฟ พอรถเริ่มออกจากสถานีก็รู้สึกตื่นเต้น เห็นนั่นนี่โน่น เป็นสิ่งละลานตา ละลานใจไปหมด ผ่านสถานีบางซื่อ สถานีใหญ่ที่สุด ที่กำลังจะเปิดมาแทนที่สถานีหัวลำโพง ความทันสมัยกำลังเข้าแทนที่ สิ่งเก่าค่อย ๆ กลายเป็นตำนาน… ครั้นพอนั่งไปนาน ๆ เข้า เริ่มเบื่อ เมื่อต้องอยู่กับที่เป็นชั่วโมง สองข้างทางมีแต่ความมืด สายลมปะทะใบหน้าจนหน้าเริ่มชาชิน หมดความตื่นเต้น มีแต่คิดว่าเมื่อไรจะถึงสักที และแล้วเวลาก็ล่าช้าออกไปเป็นครึ่งชั่วโมงกว่าจะถึง ใช่หรือไม่ ในวิถีชีวิตจริงเราก็มักเป็นเช่นนี้ ถ้าได้ทำอะไรใหม่ ๆ ก็ดูจะกระตือรือร้น พอพ้นไปไม่นานความเคยชินถามหากลายเป็นความคุ้นชิน ความชินชามาพาให้เบื่อหน่ายในที่สุด แล้วจะทำเช่นไรเล่าเพื่อให้การดำรงชีวิตของเรามีคุณค่าในทุกวัน อันนี้ก็ต้องอยู่ที่ทัศนคติ และความคิดจิตใจเราว่า เรามีชีวิตต่อไปเพื่ออะไร? เพื่อใครบ้าง? นั่นคือ จุดหมายในการก้าวต่อไป ไม่ใช่ไปเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไปแบบเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ วิถีเช่นนี้จะยิ่งทำให้เราหมดคุณค่า และเมื่อเรายังอยู่ในโลกนี้ เราก็ต้องเดินหน้าไปต่อไปอย่างมีความสุข

และแน่นอน เราจะยังคงต้องมาใช้เส้นทางนี้และวิธีการเดินทางแบบนี้อีก เมื่อได้สอบถามผู้รู้หลายคนมีคำแนะนำว่า ยังมีรถไฟอีกที่หนึ่ง สามารถมาได้และระยะเวลาอาจจะสั้นกว่า หรือถ้าขับรถมาเองก็เร็วกว่ามาก อีกหนทางหนึ่ง คือ นั่งรถตู้ ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น มีคำกล่าวว่า บนทุกเส้นทางย่อมมีความพ่ายแพ้ จำต้องการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนอย่างชาญฉลาด ในทุกวันใหม่ นั่นคือ การที่เรากำลังออกเดินทางสู่ประสบการณ์ใหม่ พบปะผู้คนใหม่ มีข่าวใหม่ สะดุดก้อนหินเดินตกท่อ อาจจะเหนื่อย อาจจะสุข อาจจะเครียด อาจจะร่าเริง  สั่งสมบทเรียนที่ดีเอาไว้ ก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งการเติบโต ใช่หรือไม่ เส้นทางที่ไร้อุปสรรคย่อมมิใช่เส้นทางที่แท้จริง

ผู้คนยังคงเดินทางกันทุกวัน เราก็เป็นหนึ่งในนั้นของวันนี้ที่ตัดสินใจที่จะออกเดินทาง และที่ที่จะไปตรงนั้นมีสถานีรถไฟพอดิบพอดี ก็คิดว่าผู้คนคงไม่มากที่จะใช้บริการในช่วงเย็นย่ำค่ำคืน ที่ไหนได้ มีผู้โดยสารเกินครึ่งขบวน และขึ้นตามสถานีต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อย  เรียกว่าเกือบจะเต็ม ใช่ ผู้คนยังเดินทางกันทุกวี่วัน คงไม่ต่างกับชีวิตเราที่ยังคงต้องมุ่งหน้าเดินทางต่อไปในทุกวัน แม้จะรู้จุดหมาย แต่มิอาจจะคาดเดาวันเวลาที่จะถึงได้ รถไฟบอกจะถึงที่หมายในเวลานั้นเวลานี้ มันก็แค่การคาดการณ์และมักจะคลาดเคลื่อนอยู่บ่อย ๆ แล้วชีวิตเราจะคลาดเคลื่อนบ้างได้ไหม? เรื่องความเชื่อ ความศรัทธา เรื่องจิตวิญญาณ แม้จะคลาดเคลื่อนไปบ้าง เราต้องหยุดไตร่ตรอง พักสักนิด ทบทวนสักหน่อย ไว้วางใจในพระเจ้า แล้วก้าวเดินหน้าต่อไป เราไม่จำเป็นต้องเอาชนะทุกอุปสรรค หยุดพัก เรียนรู้ แล้วเปลี่ยนเส้นทาง หลอมรวมอุปสรรคให้เป็นพลังที่แข็งแกร่ง นำมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนสั่งสมประสบการณ์บนเส้นทางยาวไกล การข้ามผ่านบางสิ่งไม่ได้ในวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่หนทางที่เหมาะกับตัวเราในวันหน้าก็เป็นไปได้ อย่าเร่งรัดที่จะเอาชนะทุกอุปสรรค นั่นย่อมมิใช่การเดินทางที่น่ายินดี ล้มเหลวบ้าง ผิดพลาดบ้าง เรียนรู้จากทุกความสำเร็จและทุกล้มเหลว ถึงจุดหมายบ้าง เปลี่ยนจุดหมายบ้าง ถึงช้าไปบ้าง มัน คือ การเติบโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้นและชัดเจนขึ้นในก้าวย่างของเรา

ที่สุดแล้วเราต้องรู้ว่าเรากำลังจะก้าวไปเพื่อสิ่งใด การเดินทางของชีวิตที่ต้องก้าวหน้าต่อไป  ผ่านสถานีแล้วสถานีเล่า จิตวิญญาณไม่หยุด ไม่สะดุดอยู่กับที่ หากเป็นเช่นนี้ได้ ความเชื่อ ความศรัทธา ความรัก และความหวังในตัวเราจะมั่นคงตลอดไป พร้อมถึงที่หมาย ไม่เกิดความชินชา ไม่ตกอกตกใจจนเสียกระบวน ไม่จำเป็นต้องเห็นความจริงในทุกสิ่ง หากแต่เชื่อมั่นในทุกสิ่งที่กระทำด้วยหัวใจแห่งรัก ย่อมมีรางวัลและวันแห่งความยินดีรออยู่ในวันข้างหน้า ชีวิตที่ไปต่อที่แท้ คือ ผู้โอบรับความยากระหว่างทางเดินให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

 

คนข้างวัด

(สามารถติดตามอ่านบทความ“คนข้างวัด”และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่)

(www.konkhangwat.blogspot.com,http:/www.facebook.com/คนข้างวัด)