บทรำพึงถึงพระเยซูเจ้าผ่านทางแม่พระ ภาคปิติยินดี
ประจำวันจันทร์และวันเสาร์
บทข้าพเจ้าเชื่อ (สัญลักษณ์ของอัครสาวก) (Credo)
ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงเนรมิตฟ้าดิน
ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัส ปิลาต ทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงถูกฝังไว้ เสด็จสู่แดนมรณะ วันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย เสด็จสู่สวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย
ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตเจ้า พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์สากล ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์ การอภัยบาป การกลับคืนชีพของร่างกาย และชีวิตนิรันดร อาแมน
บทข้าแต่พระบิดา (มธ 6:9-13) (Pater Noster)
ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้ โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ อาแมน
บทวันทามารีย์ (Ave Maria)
วันทามารีย์ เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิตกับท่าน ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย อาแมน
บทพระสิริรุ่งโรจน์ (Gloria Patri)
พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา และพระบุตร และพระจิต เหมือนในปฐมกาล บัดนี้และทุกเมื่อตลอดนิรันดร อาแมน
ข้อรำพึงเกี่ยวกับการบังเกิดของพระเยซูเจ้า
ข้อรำพึงที่ 1 พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง ณ แม่น้ำจอร์แดน
“เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้ว เสด็จขึ้นจากน้ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าเปิดออก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระจิตของพระเจ้าเสด็จลงมา เหนือพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา (มธ 3 : 16-17) “การเริ่มต้นชีวิตท่ามกลางสาธารณชนของพระเยซูเจ้า อยู่ที่พิธีล้างซึ่งพระองค์ได้รับจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน ยอห์นเทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 535)
ข้อรำพึงที่ 2 พระเยซูเจ้าทรงเผยพระองค์เองในงานมงคลสมรส ณ หมู่บ้านคานา
“สามวันต่อมา มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ยน 2:1-5) “เมื่อพระเยซูเจ้าเริ่มเทศน์สอน พระองค์ทรงกระทำเครื่องหมายแรก ตามคำขอของพระมารดาของพระองค์ ระหว่างงานเลี้ยงสมรส พระศาสนจักรให้ความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในงานเลี้ยงแต่งงานที่คานา พระศาสนจักรยืนยันความดีของการแต่งงาน และประกาศว่า นับจากนั้นเป็นต้นมา การแต่งงานจะเป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผลแห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1613)
ข้อรำพึงที่ 3 พระเยซูเจ้าทรงประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า และทรงเรียกผู้คนให้กลับใจ
“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15) “มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักร ซึ่งแรกทีเดียวได้ประกาศแก่ลูกหลานชาวอิสราเอลนั้น อาณาจักรของพระเมสิยาห์นี้ ได้รับการกำหนดไว้ให้ต้อนรับมนุษย์ทุกชาติ” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 543)
ข้อรำพึงที่ 4 พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระกายอย่างรุ่งโรจน์ ณ ภูเขาทาบอร์
“ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูง ที่ปราศจากผู้คน แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง” (มธ 17:1-2) “ชั่วขณะหนึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า เป็นการยืนยันการประกาศยอมรับของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงให้เห็นด้วยว่า พระองค์จะต้องผ่านการถูกตรึงกางเขน ณ กรุงเยรูซาเล็ม “เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริ-รุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 555)
ข้อรำพึงที่ 5 พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท เพื่อเป็นเครื่องหมายของธรรมล้ำลึกปัสกา
“ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา” (มธ 26:26) “โดยการรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวกของพระองค์ในระหว่างงานเลี้ยงปัสกานั้น พระเยซูเจ้าได้ทรงให้ความหมายที่แน่นอนถึงปัสกาของชาวฮีบรู การที่พระเยซูเจ้าทรงผ่านข้ามไปหาพระบิดาด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพเป็นปัสกาใหม่ เป็นการกระทำล่วงหน้าในมื้ออาหารค่ำ และในการฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งนำปัสกาของชาวฮีบรูไปสู่ความสมบูรณ์ และฉลองปัสกาสุดท้ายของพระศาสนจักรในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระอาณาจักร (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1340)